รีวิว NAD Masters Series M33: BluOS Streaming DAC Amplifier

5198 จำนวนผู้เข้าชม  | 

NAD ประสบความสำเร็จอย่างมากในการผนวกความโดดเด่นของภาคขยายเสียงที่เหนือชั้นขึ้นไปอีกระดับเข้ากับความเรียบง่ายของการสตรีมเพลงผ่านแพล็ทฟอร์ม BluOS ผลที่ได้รับก็คือการเข้าถึงความสุนทรีย์ของเสียงดนตรีอันง่ายดาย

จุดเด่น 

  • ประสิทธิภาพของสียงมีความเสถียรยิ่ง 
  • สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ทและสตรีมเพลงจากเครือข่ายผู้ให้บริการต่างๆ ได้อย่างสะดวก 
  • วงจรแก้ไขสภาพห้องของ Dirac Live อันยอดเยี่ยม 

จุดด้อย

  • ไม่มีพอร์ท USB-B สำหรับการเล่นกลับจากคอมพิวเตอร์โดยตรง 
  • โฟโน อินพุท ที่เป็นการสุ่มแบบดิจิทัล
  • จะมีปัญหาบ้างกับบาง USB Drive 


NAD เป็นบริษัทที่สร้างชื่อขึ้นมาอย่างโดดเด่น และมั่นคง ด้วยชุดเครื่องเล่นไฮ-ไฟ สเตรีโอ แบบแยกชิ้น ด้วยราคาที่ใครก็สามารถเป็นเจ้าของได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นคอมแพ็คท์ ดิสค์, แอมปลิไฟเออร์ ตลอดจนลำโพง ที่สามารถนำมาจัดรวมเป็นซิสเต็มได้ด้วยเงินที่ไม่มากนัก ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นล้วนมีคุณภาพที่จัดอยู่ระดับแถวหน้าของวงการ ทั้งยังโดดเด่นอย่างมากในช่วงการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีในทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสตรีมมิง หรือภาคขยายแบบดิจิทัลก็ตาม 


เทคโนโลยีหลักที่ใช้ในกระบวนการสตรีมนั้น ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัทในเครือของ Lenbrook แห่งแคนาดา ที่เป็นบริษัทแม่ของ NAD ซึ่งแรกที่นำเสนอนั้นใช้ชื่อ Bluesound ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็น BluOS ซึ่งเป็นแพล็ทฟอร์มสำหรับการใช้งานแบบ Multi-Room ซึ่งต่อมา NAD ได้นำมาใช้และประสบความสำเร็จกับแอมป์อัจฉริยะที่รู้จักกันดีอย่าง NAD M10 ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากสถาบันต่างๆ ได้มากกว่ามาก ซึ่งโดดเด่นด้วยจอแสดงผลขนาดใหญ่ และภาคแอมปลิไฟเออร์ที่ยอดเยี่ยม 

Model M10 นั้น เป็นเครื่องที่อยู่ในอนุกรมสูงสุดของ NAD คือ Master Series ที่ถือกำเนิดขึ้นมากว่าทศวรรษแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมอันยอดเยี่ยมในแขนงต่างๆ ด้านเครื่องเสียงของ NAD ทั้งยังได้นำแนวคิดทางด้านภาคขยายเสียงแบบดิจิทัลเข้ามาใช้ ทำให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไปอีกขีดขั้น เหนือชั้นกว่าผลิตภัณฑ์ปกติของค่ายที่ต่างก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากอยู่แล้ว ซึ่งตอกย้ำความยอดเยี่ยมของ NAD ได้เป็นอย่างดี 
ในขณะที่เวลานั้นบรรดาผู้คนต่างพากันมองด้วยความฉงน ในการใช้ภาคขยายเสียงแบบที่ว่า ทว่า NAD กลับมองเห็นถึงศักยภาพและโอกาส จึงได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีทางด้านนี้อย่าง Zetex ของอังกฤษ และได้นำเสนอออกมาให้ตลาดรู้จักในชื่อ DirectDigital ต่อมาได้พัฒนาร่วมกับ Hypex บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่สัญชาติดัชท์ ด้วยการใช้ภาคขยายเสียงแบบ nCore ซึ่งทำงานในแบบ Class-D อันเป็นสิ่งที่ NAD เรียกว่า HybridDigital นั่นเอง 


ขณะที่บริษัทหลายๆ ราย ได้นำและปรับใช้รูปแบบของ Hypex เพื่อนำไปสู่ภาคขยายแบบดิจิทัลของตัวเองให้เหนือยิ่งขึ้นไปกว่าแบบปกติที่ใช้อยู่นั้น NAD ได้พบกับพันธมิตรรายใหม่ คือ Purifi Audio ของเดนมาร์ก แต่ก็ยังทำงานร่วมกันอยู่กับ Hypex โดยได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีภาคขยายเสียงแบบที่เรียกว่า Eigentakt และได้นำมาใช้เป็นครั้งแรกกับภาคขยายเสียงที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก คือในรุ่น Master M33 นี่เอง 
 


โครงสร้างและการเชื่อมต่อ 
ก่อนที่จะลงไปถึงภาคการขยายเสียงแบบใหม่ที่เป็น HybidDigital Purifi Eigentakt มาดูกันว่า NAD ได้รังสรรค์อะไรขึ้นมาบ้างกับ M33 เครื่องนี้ที่ NAD เรียกมันว่า BluOS Streaming DAC Integrated Amplifier ซึ่งได้ใช้พื้นฐานโครงสร้างของ NAD M10 (ที่มีลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยมลูกบาศก์) แล้วขยายด้านกว้างออกไปให้แลดูเหมือนเครื่องส่วนใหญ่ โดยยังคงแผงดิสเพลย์แบบสีที่เป็นระบบแตะสัมผัสเอาไว้ แล้วเพิ่มปุ่มควบคุมระดับความดังเสียงที่ดีเอาไว้ทางด้านขวา 


เป็นเครื่องที่มีคุณสมบัติอันเอื้อความสะดวกดายในการใช้งานต่างๆ อย่างมาก อาทิ เอาท์พุทสำหรับชุดหูฟังที่ยอดเยี่ยม และจำนวนดิจิทัล อินพุท ที่เพิ่มมากมากขึ้น ทั้งพอร์ท HDMI แบบล่าสุดอย่าง eARC, AES/EBU, Optical และ Coaxial อย่างละสองชุด ทั้งยังมีพอร์ท USB-A ให้ด้วย ที่อาจจะแลดูเหมือนว่าขาดไปก็คือพอร์ท USB-B สำหรับต่อใช้งานจากคอมพิวเตอร์โดยตรง

 
ทางด้านอะนาล็อก อินพุท มีให้สามชุด เป็นแบบ RCA หนึ่งชุด และ Balanced XLR สองชุด และแน่นอนว่ามันยังมี Phono Input ให้อีกด้วย โดยรองรับการทำงานกับหัวเข็มทั้ง MM และ MC ที่ให้การทำงานอย่างเที่ยงตรงตามมาตรฐาน RIAA Equalization พร้อมผนวกอินฟราโซนิค ฟิลเตอร์ สำหรับ Phase-Canceling อันชาญฉลาดอีกด้วย 
มีเอาท์พุทสำหรับสับ-วูฟเฟอร์ที่แยกเป็นอิสระจากกันให้สองชุด พร้อมเอาท์พุทสำหรับลำโพงสองชุด ซึ่งสามารถปรับให้ใช้งานแบบ Bi-Wiring ได้ นอกจากนี้ยังมี 12V & IR Triggers, RS232 และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายให้ทำได้ทั้งแบบ Wi-Fi ไร้สาย และผ่านช่อง Ethernet ทำงานแบบไร้สายกับ Bluetooth aptX HD โดยมีเสารับสัญญาณมาให้พร้อม (แต่ไม่ได้ระบุ AAC และ iOS) จึงสามารถรับฟัง M33 จากชุดหูฟังแบบไร้สายผ่านทางบลูทูธได้อย่างสะดวก 
 
BluOS Streaming 
เมื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายเรียบร้อยแล้ว M33 สามารถทำงานผ่านแพล็ทฟอร์ม BluOS (หรือที่แต่เดิมรู้จักกันในชื่อ Bluesound) ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยสามารถสตรีมเพลงจากวิทยุอินเทอร์เน็ท และผู้ให้บริการต่างๆ ได้อย่างสะดวกและง่ายอาย รวมทั้งการเข้าถึงไฟล์เสียงความละเอียดสูงที่ต้องสมัครเป็นสมาชิกเฉพาะ อย่าง Tidal, Deezer, Qobuz และ Amazon HD ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ที่นำไปใช้งานนั้น มีบริการเหล่านี้หรือไม่ นอกจากนี้มันยังสามารถทำงานร่วมกับ Google Assistant, Alexa และ Siri ได้ด้วย รวมทั้งรองรับ AirPlay2 ที่จะสตรีมเพลงมาจากอุปกรณ์ของ Apple ได้อย่างสะดวก 
NAD ยังบอกด้วยว่าพวกเขาทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้ M33 สามารถรองรับและทำงานร่วมกับระบบ Smart Home จากอุปกรณ์ชั้นนำต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจาก Apple, Creston, Control4, Lutron, KNX และอื่นๆ อีกมากกว่ามาก 
และที่ดูเหมือนจะเป็นโบนัสที่เครื่องนี้มีให้ก็คือ มีช่องว่างหรือ Slot สำหรับ MDC: Modular Design Construction ให้ถึงสองชุด เพื่อว่าในอนาคตหากมีพัฒนาการอะไรใหม่ๆ ออกมาอีก ก็สามารถเพิ่มโมดูลเฉพาะนั้นๆ เข้ามาในเครื่องได้ทันที ซึ่งนี้เป็นการออกแบบโครงสร้างอันเป็นคุณสมบัติสำคัญของเครื่องที่เหนือชั้นขึ้นไปอีกระดับ ที่ NAD ได้มองเห็นและลงมือปฏิบัติกับเครื่องของเขามานานกว่าทศวรรษแล้ว ทำให้เครื่องของค่ายนี้พร้อมรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านชุดโมดูลได้  
M33 จึงเป็นเครื่องที่พร้อมจะตามทันเทคโนโลยีแห่งอนาคตอยู่ตลอดเวลา  
 
การเซ็ท-อัพ 
NAD M33 เป็นแอมปลิไฟเออร์ที่มีความโดดเด่นอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่แค่เพียงกับโครงสร้างภาพลักษณ์ ทั้งขนาดและน้ำหนักตัวที่สมดุลยิ่ง อีกทั้งยังมีงานฝีมืออันประณีต พิถีพิถัน การจัดวางเลย์เอาท์แผงหน้าปัด การออกแบบครีบแผงระบายความร้อน ล้วนทำให้เครื่องดูหรู เรียบ และทรงคุณค่าอย่างยิ่ง 


แผงหน้าปัดแบบอะโนไดซ์ สีดำ ยื่นออกมาจากแผงโครงสร้างตัวถังเครื่องเล็กน้อย โดยมีปุ่มเปิด/ปิด จอแสดงผล ส่วนเมน สวิทช์ เป็นแบบสวิทช์โยกอยู่ที่แผงหลังเครื่อง ช่องเสียบชุดหูฟังอยู่ที่โครงสร้างตัวถังเครื่องใต้แผงดิสเพลย์ เราวางเครื่องเอาไว้บนชั้นวางหลักที่สามารถเสียบต่อใช้งาน Ethernet ได้อย่างสะดวก ทำให้ M33 สามารถตั้งค่าและเข้าถึงอุปกรณ์เครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เรายังต่อให้ทำงานร่วมกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Thorens ที่ช่องเสียบต่อด้านหลังเครื่อง พร้อมกับต่อใช้งานคอมพิวเตอร์ผ่านทางช่อง SP/DIF โดยดัดแปลงจากพอร์ท USB-B ของเครื่อง DAC ที่ใช้อยู่ประจำห้อง 


เราเปิดใช้งานแอพพลิเคชัน BluOS จาก iPad เพื่อค้นหา M33 ซึ่งสามารถค้นพบและตั้งค่าเพื่อการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเราไม่ประสบความสำเร็จจากความพยายามอัพเกรดเฟิร์มแวร์ ทำให้เราต้องรีเซ็ทใหม่เพื่อตั้งค่า Default ของเครื่องตามคำแนะนำจากออนไลน์ ซึ่งยังไม่มีการอัพเดทแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม, ทุกครั้งเมื่อเปิดใช้งาน เครื่องจะทำการตรวจสอบและจะอัพเดทให้เมื่อแอพพลิเคชันมีการอัพเดทเวอร์ชัน ดังนั้น, วันถัดมาเมื่อเราเปิดเครื่อง BluOS จึงอัพเดทให้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณห้านาที 
รีโมท คอนโทรล Model HTRM-2 เอื้อการทำงานได้แบบสารพัดประโยชน์ เพราะนอกจากใช้สั่งการ M33 แล้ว ยังสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องอื่นๆ ที่ไม่เพียงเฉพาะเครื่องของ NAD ได้อีกถึง 8 เครื่อง เพราะเป็นแบบ Learning Remote ที่สามารถเรียนรู้การควบคุมเครื่องอื่นๆ ได้ด้วย โดยเพียงกดปุ่มเครื่องนั้นๆ บนรีโมท เช่น กด BD มันก็จะเปลี่ยนปุ่มทั้งหมดเป็นรหัส IR ของเครื่องเล่น Blu-ray Disc ทันที ทำให้สะดวกในการใช้งานควบคุมเครื่องต่างๆ ในซิสเต็มอย่างมาก ปุ่มเมนู และปุ่มแชนเนล ไม่มีผลต่อแอมป์ และไม่มีปุ่มข้อมูลบอกให้แสดงคุณภาพของไฟล์บนจอแสดงผล แต่ส่วนนี้สามารถหาข้อมูลโดยละเอีดยได้จากแอพ BluOS ซึ่งหากจะใช้รีโมท คอนโทรล ควบคุมการทำงานของ M33 โดยเฉพาะแล้ว สามารถทำให้มีขนาดเล็กกว่านี้ได้มาก 


ปฏิเสธไม่ได้ ว่า HTRM-2 เป็นรีโมทระดีบไฮ-เอ็นด์ แต่มันอาจจะใช้งานได้ไม่คล่องตัวมากนัก อย่างไรก็ตาม, การควบคุมผ่านแอพ BluOS นั้นทั้งสะดวก ง่ายดาย และครอบคลุมฟังค์ชันต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง ตั้งแต่การเลือกอินพุทไปจนถึงการสตรีม การตั้งค่าเครื่องเล่น ตลอดจนสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็สำคัญ เช่น การตั้งค่าปิดอัตโนมัติ หรือค่าความสว่างของจอแสดงผล เป็นต้น 


นอกจากรีโมท คอนโทรล แล้ว เรายังสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องผ่านทางหน้าจอที่เป็นระบบแตะสัมผัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงการตั้งค่าทั้งหมดได้อย่างสะดวก เป็นหน้าจอที่ให้การตอบสนองการทำงาน และการตั้งค่าในรูปแบบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถเปลี่ยนหน้าจอให้แสดงผลความแรงสัญญาณแบบ VU Meter ได้ด้วย 
เราเสียบใช้งานอุปกรณ์ USB ที่เป็นไฟล์ความละเอียดสูง และเชื่อมต่อ BluOS เข้ากับอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลของระบบเครือข่าย (NAS: Network Attached Storage) พร้อมจัดทำดัชนีเพลงก่อนเล่นได้อย่างเรียบร้อย น่าเสียดายที่ไม่สามารถสร้างดัชนีเพลงของ iTune/Music บนอุปกรณ์ Mac อีกแล้ว เราจึงต้องเล่นบนแม็คผ่าน AirPlay แล้วส่งต่อไปยัง M33 ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ทั้งกับ Macbook Pro และ iPad Pro แต่วิธีนี้ไม่สามารถใช้กับ Mac Mini รุ่นเก่าได้ 
 


เสียง 
ก่อนหน้านี้เราผ่านเทคโนโลยีมามากมาย ที่พาเราไปสู่ความเพลิดเพลินกับเสียงดนตรี จากแอมป์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ แต่กับวันนี้ M33 ได้หลอมรวมความโดดเด่นของเทคโนโลยี ความสะดวกสบายในการใช้งานปุ่มปรับต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชัน รวมทั้งพลังของภาคขยายเสียงจาก PuriFi ได้เข้ามาควบคุมการทำงานของลำโพงเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ และส่งมอบความสุขของเสียงดนตรีมาให้เราสัมผัสอย่างเพลิดเพลิน อัลบัมแล้วอัลบัมเล่าอย่างเฉียบคมและสมบูรณ์แบบ 

จากไฟล์ Hi-Res ในไดรฟ์ USB เราฟังแทร็ค Deed I Do จากอัลบัม Ella & Bassie ของปี ค.ศ.1963 ซึ่งเวอร์ชันความละเอียดสูงของเสียงไม่ใช่สิ่งจำเป็นในเวลานั้น - ว้าววว – มันให้ไดนามิคจากเครื่องเป่าทองเหลืองของวงบิก แบนด์ ออกมาได้อย่างชัดเจน หลอมรวมเข้ากับเสียงร้องเอลลาที่อยู่กลางวงได้อย่างลื่นไหล เสียงชิ้นเครื่องดนตรีต่างๆ สลับสับเปลี่ยนกันทำหน้าที่อย่างฉับไว สลับซับซ้อน แต่ให้ออกมาอย่างหลุดลอยและโดดเด่นจากเวทีเสียง 
BluOS รองรับการทำงานกับไฟล์เสียงคุณภาพสูง MQA ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นเราจึงเล่น Moondance ของ Van Morrison ที่เป็นการเข้ารหัส MQA ที่ 24-bit/48kHz แต่ขยายเป็น 192kHz ผ่าน M33 ออกมาได้ค่อนข้างจะบางเบาอยู่สักหน่อย แต่ก็เปี่ยมไปด้วยคุณภาพอันสมจริงอย่างโดดเด่น 


แต่ M33 ไม่ได้มากความสามารถกับไฟล์ความละเอียดสูงเท่านั้น กับ Outside Myself ของ KD Lang ที่เราริปมาจากแผ่นซีดี มันก็สามารถให้ออกมาโดยเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็ยนเสียงร้องอันไร้ที่ติ หรือประกายเสียงของกีตาร์ที่สำแดงออกมาอย่างเปล่งปลั่ง รวมทั้งกลุ่มเสียงคอรัสที่ให้ออกมาโดยปลอดการบีบอัดอย่างสิ้นเชิง แต่ละเส้นเสียงถูกนำเสนอออกมาอย่างกว้างขวาง และสอดประสานกันเป็นอย่างดี ทั้งยังมีพลังดึงดูดอย่างน่าสนใจ 


 
รองรับการเล่นแผ่นไวนีล 
ขั้วต่อสายกราวน์ดของ M33 นั้นออกจะแปลกไม่น้อย เพราะอยู่ห่างจากอินพุทเกินกว่าสายของโธเรนส์จะเสียบต่อถึง เราจึงใช้วิธีขัดตาทัพโดยเอาขั้วสายกราวน์ดต่อเข้าที่สกรูว์ยึดอินพุทของ RS232 ที่อยู่เหนือ Phono Input ขึ้นไปเล็กน้อย ซึ่งมันก็ใช้การได้ดีทีเดียว เพราะโธเรนส์ทำงานเงียบสนิทดี จากนั้นเมื่อได้ลองเล่นเราพบว่ามันให้การทำงานเหนือกว่าโฟโน แอมป์ ของ Musical Fidelity ที่เราใช้อยู่ มันสามารถส่งมอบโทนเสียงอะนาล็อกที่เข้มข้น จริงจัง พร้อมทั้งพลังของเสียงเบสส์ออกมาให้เราได้สัมผัสอย่างน่าพอใจ 
ฟังเพลงของ The Beatles จากอัลบัมที่พิมพ์แผ่นในออสเตรเลียซึ่งทำออกมาได้ดีไม่มีที่ติ ไม่ว่าจะเป็น Can’t Buy Me Love หรือ Hey Jude ให้ความเป็นสเตรีโอของเสียงออกมาได้อย่างน่าฟัง เป็นน้ำเสียงที่ชัดเจน เปิดเผย และให้ออกมาได้อย่างสวยงาม กับ I Should Know Better เสียงร้องของจอห์นที่อยู่กึ่งกลางเวทีมีความน่าฟังเพิ่มมากขึ้นด้วยความคมชัด และสดใส ตำแหน่งต่างๆ บนเวทีมีความแม่นยำไม่ว่าจะเป็นกีตาร์เบสส์ของพอล กลองของริงโก เสียงริธึมกีตาร์ของจอห์นทางด้านซ้าย เสียงลีดกีตาร์และฮาร์โมนิกาของจอร์จทางด้านขวา 
จากที่ได้ฟังเสียงอันปราศจากความพร่าเพี้ยน ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะเพิ่มระดับความดังขึ้นไปอีก -10dB โดยที่ไม่คิดจะหรี่ลงแต่อย่างใด จนมาถึงหน้าสองของแผ่นกับแทร็คสุดท้าย Revolution มันให้สุ้มเสียงออกมาได้อย่างดุดัน เสียงกีตาร์ทางด้านขวาให้ออกมาดิบ เถื่อน อย่างน่าขนลุก เสียงกลองชุดจากการโซโลของริงโกกระเด็นออกไปทางด้านซ้าย ขณะที่เสียงของกลองสแนร์ให้ออกมาอย่างน่าฟังยิ่งนัก นับความสุดยอดอย่างสุดแสนจะคลาสสิคยิ่ง 
เราพบว่าเสียนงจะมีการดีเลย์เล็กน้อยในช่วงที่วางปลายเข็มลงหรือยกขึ้นจากแผ่น ซึ่งสังเกตได้ว่ามันน่าจะมาจากกระบวนการประมวลผลสัญยาณ เพราะอินพุทนี้จะถูกแปลงจากอะนาล็อกเป็นดิจิทัล เพราะไม่ต้องการเน้น RIAA แบบดิจิทัล ซึ้งแท้จริงแล้วอินพุทอะนาล็อกจะถูกแปลงเป็นดิจิทัลทั้งหมด และมีตัวเลือกให้สามารถเข้าถึงได้จากแผงหน้าปัด ตามอัตราการสชุ่มตัวอย่างที่จะดำเนินการ กับค่าเริ่มต้นที่ 44kHz อาจบ่งบอกถึงมุมของ NAD เกี่ยวกับอัตราการแซมพลิงที่มากเกินไป เช่นเดียวกับความจริงที่ว่าการเล่นผ่านวิธีการใดๆ ที่สูงสุดที่ 24-bit/192kHz โดยไม่รองรับ DSD ซึ่ง NAD ได้แนะนให้แปลงไฟล์ดังกล่าวเป็น PCM ก่อนนำมาเล่นกลับ 
ดังที่ได้บอกไว้ เราแปลงไวนีลให้เป็นดิจิทัลด้วยกรรมวิธีดังกล่าว โดยเพิ่มเป็น 192kHz และพบว่าไม่มีผลเสียต่อเสียงอย่างเห็นได้ชัด และเหมือนจะเพิ่มความชัดเจนมากขึ้นด้วยการประมวลผลแบบดิจิทัล โดยขจัดการเปลี่ยนแปลงเฟสของวงจรอะนาล็อก ขณะที่การดีเลย์เล็กน้อยทำให้เอฟเฝ็คท์ด้านการตอบสนองทางเสียงช้าลง และเรากำลังเล่นที่ระดับความดังค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้ไม่สามารถปิดฝาครอบแท่นโธเรนส์ได้เลย 
เราจบการเล่นไวนีลด้วย Box Set ชุด 2018 Record Store Day กับแผ่น Frankie Goes to Hollywood และ Welcome to the Pleasure Dome ที่ให้สุ้มเสียงออกมาสะอาดสะอ้าน มีไดนามิคและพลังเสียงที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่ต้นจนจบ มีความเที่ยงตรงสูง และเปิดเล่นที่ระดับความดังสูงมาก (ถึงขนาดที่วันรุ่งขึ้นเพื่อนบ้านยังออกปากชมความไพเราะของดนตรีที่เราเปิดฟังกัน) โทนเสียงที่ให้ออกมาปราศจากการทับซ้อนกันอย่างสิ้นเชิง อะไรที่โธเรนส์สื่อออกมา NAD เครื่องนี้ก็นำเสนอออกมาให้สัมผัสได้อย่างหมดจด และหากมีซอร์ซอะไรที่เหนือชั้นยิ่งไปกว่านี้ เราก็เชื่อว่ามันก็จะนำเสนอออกมาให้รับรู้ได้อย่างไม่มีปิดบัง เราจบการเล่นแผ่นไวนีลโดยที่นึกไม่ออกว่าจะยังมีอะไรให้ความสุขได้มากไปกว่านี้อีก 


แหล่งโปรแกรมดิจิทัล 
เราฟังวิทยุอินเทอร์เน็ตจาก TuneIN ขณะเดียวกันก็สนุกกับการเล่นผ่าน Tidal ด้วยการฟังไฟล์ความละเอียดสูงของ MQA และใช้ M33 ทำงานขับลำโพงอันหลากหลาย ตั้งแต่ลำโพงวางหิ้งขนาดเล็กของ Quad ที่วางอยู่บนขาตั้งจากเยอรมนี ไปจนถึงลำโพงขนาดยักษ์ระดับอ้างอิงของเราอย่าง JBL และพบว่าไม่มีอะไรที่เกินเลยไปจากความสมบูรณ์ของเสียงที่ M33 ให้ออกมา 


เราตั้งใจฟังแทร็คความละเอียดสูงเพลงหนึ่งที่แรกๆ เหมือนจะไม่รู้จัก มันอยู่ในเพลย์ลิสท์ที่ถูกตั้งค่าเอาไว้ใน BluOS ซึ่งมาจาก USB Drive ที่เราเสียบเอาไว้กับ M33 มันให้เสียงที่ต่ำลึกและดังมาก ในที่สุดเราก็จำได้ว่ามันเป็นเสียงเปียนโนนจากงานดนตรีที่ชื่อ Living ของ Jan Gunner Hoff ที่บันทึกมาแบบ Half Speed เป็นไฟล์ FLAC 24-bit/352kHz จาก 2L ซึ่งมันเกินความสามารถของ M33 อย่างไรก็ตามตอนหลังเรามาพบว่ามันทำงานด้วยแบบเงียบๆ ดังนั้น, กับไฟล์ที่มีความละเอียดสูงกว่า 192kHz มันอาจจะไม่ทำงานด้วย หรือให้ผลลัพธ์ออกมาผิดปกติ แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับไฟล์ DSD 


แม้จะไม่มีอินพุท USB-B ให้เล่นจากคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่ก็ดังที่บอกไว้ข้างต้นว่าเราแปลงมันผ่าน USB DAC ของเครื่องประจำห้องเราคือ Musical Fidelity ที่มีให้ทั้งอินพุทแบบออพทิคัลและอะนาล็อก ทำให้เราสามารถเปรียบเทียบภาค DAC ของทั้งสองได้ ซึ่ง NAD ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับปรุงเวทีเสียงจากแทร็ค They Are Night Zombies!! They Are Neighbor!! They Have Come Back From the Dead!! Ahhhh! ของ Sufjan Steven ให้มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องที่เราใช้อยู่อย่างชนิดที่เหนือกว่ามาก M33 สามารถแยกแยะองค์ประกอบของสรรพเสียงต่างๆ ที่วุ่นวาย และหลอมรวมมันเข้าด้วยกันใหม่ได้อย่างสอดคล้อง และให้ออกมาอย่างทรงพลังยิ่ง 
เราพบว่ามันมีปัญหาการทำงานกับบาง USB-Drive (อย่างกับอันที่เราเก็บข้อมูลไฟล์ความละเอียดสูงเอาไว้) ที่วันแรกเมื่อลองใช้งานมันให้การทำงานด้วยดี และให้คุณภาพออกมาอย่างยอดยอดเยี่ยม แต่วันถัดมาเรากลับมองไม่เห็นไฟล์ต่างๆ ซะงั้น พบแต่โฟลเดอร์ที่ว่างเปล่า ทำให้ต้องเสียเวลามาจัดทำเพลย์ลิสท์ใหม่ แต่กับไดรฟ์ที่เราเก็บไฟล์ข้อมูลปกติที่ใช้สำหรับการทดสอบทั่วๆ ไป ซึ่งมีอยู่ประมาร 20 ไฟล์ มันทำงานด้วยได้ดีไม่มีปัญหาแต่อย่างใด 

Dirac Live 
มีอยู่สิ่งหนึ่งที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของ NAD นั่นก็คือสภาพห้องที่จะนำเครื่องไปใช้งาน ด้วยเหตุนี้เอง M33 จึงมาพร้อมไมโครโฟนและวงจรแก้ไขสภาพห้อง Dirac Live ในตัว ซึ่งเป็นกรรมวิธีการแก้ไขสภาพอะคูสติคของห้องที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในวงการเวลานี้ ซึ่งมีเป้าหมายในการวัดค่าและแก้ไขลักษณะเสียงในห้องนั้นๆ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับเสียงเบสส์ มันทำงานในช่วง 20Hz – 500Hz หากต้องการปรับแต่งย่านความถี่สูงกว่านั้น ต้องอัพเกรดขึ้นไปเป็น Dirac Live Full Frequency 


ก่อนหน้านี้ Dirac Live ต้องทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ แต่ปัจจุบัน Paul Barton แห่งลำโพง PSB ได้ออกแบบให้มันทำงานผ่านแอพพลิเคชันได้แล้ว ด้วย NAD RoomFeel EQ ที่ออกแบบมาสำหรับปรับแต่งกราฟ (การตอบสนองความถี่เสียง) ในอุดมคติ เพื่อแก้ไขปัญหาการก้องสะท้อนของเสียงภายในห้อง โดยเทคโนโลยีนี้ได้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานกับชุดหูฟัง และมีอยู่ใน PSB M4U-2 และ 8 และนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชุดหูฟังทั้งสองได้รับการยกย่องว่าให้คุณภาพเสียงที่ยอดเยี่ยมมาก 


หากห้องของคุณมีลักษณะทางด้านอะคูสติคที่ยากต่อการแก้ไขตามปกติ Dirac Live จะช่วยให้ได้คุณภาพของเสียงในห้องของคุณดีขึ้นได้ มันเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพออย่างมหาศาล และเป็นหนึ่งในระบบที่ล้ำสมัยที่สุดในปัจจุบัน แม้ว่าเวอร์ชันที่ติดมากับเครื่องจะทำงานได้เพียง 500Hz แต่นั้นมันก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป เพราะมันสามารถสร้างความแตกต่างแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีผลยิ่งสำหรับใครที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดแบบไม่ปล่อยผ่าน 

สรุป
M33 BluOS Streaming DAC Integrated Amplifier ของ NAD ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในทุกประเด็นสำคัญ ทั้งยังสร้างสรรค์นวัตกรรมในประเด็นสำคัญอีกหลายประการ มันคือพัฒนาการที่ผสมผสานการทำงานแบบสตรีมมิงกับระบบมัลติ-รูม ผ่าน BluOS ที่มีความละเอียดสูงได้อย่างลงตัว ทั้งยังผนวกเข้าไว้ด้วยภาคขยายเสียงที่ทรงพลังและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพอีกด้วย


และ NAD ยังได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของภาคขยายแบบใหม่ ซึ่งเป็นการผลักดันในเครื่องในกลุ่ม Master Series เหนือชั้นขึ้นไปอีกระดับของการให้เสียงดนตรี ทั้งยังมีโครงสร้างภาพลักษณ์อันไร้ที่ติ มาพร้อมอินพุทอันหลากหลาย หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัสขนาดใหญ่ที่เอื้อการใช้งานอย่างเป็นมิตร พร้อมรีโมท คอนโทรล ระดับไฮ-เอ็นด์ 
แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังเป็นเสียงดนตรีนั้นแหละที่ให้ความประทับใจอย่างเป็นที่สุด ซึ่งนั้นเป็นสิ่งยืนยันถึงชื่อเสียงที่โดดเด่นทางด้านนี้ของ NAD ได้เป็นอย่างดี ชื่อที่ไม่เคยหยุดการพัฒนาเทคโนโลยีในอันที่จะนำมาซึ่งเสียงดนตรีชั้นดีอย่างเป็นสำคัญมาโดยตลอด 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้